f
กรมทางหลวง ยันนโยบายคมนาคมไม่ได้สั่งรื้อเกาะกลางทำแบริเออร์
ลงวันที่ 03/11/2562

   กรมทางหลวง ยันนโยบายคมนาคมไม่ได้สั่งรื้อเกาะกลางทำแบริเออร์ ให้เริ่มกับโครงการใหม่หรือปรับปรุงเกาะสีเดิมเท่านั้น

ยันช่วยลดความรุนแรงอุบัติเหตุ เปิดรูปแบบเกาะกลางถนน กรมทางหลวงจะใช้แบบผสมผสาน แบริเออร์-แบบยก

    นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวประเด็น “ทล.-ทช. งานเข้ารื้อแบบสร้างทางใหม่

หวั่นผู้ใช้ถนนอันตราย”  โดยมีเนื้อหาว่า กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะดำเนินการรื้อเกาะกลาง

เพื่อใช้แบริเออร์แปะแผ่นยางพารา (Rubber Fender barrier) นั้น

    กรมทางหลวง ขอชี้แจงว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่ได้มีนโยบายให้ทุบรื้อเกาะกลางเดิมที่เป็นแบบเกาะยก เพื่อทำใหม่เป็นแบริเออร์

แต่ได้สั่งการให้ดำเนินการในโครงการก่อสร้างใหม่ หรือ ปรับปรุงเกาะสีที่มีอยู่เดิม เท่านั้น เพราะที่ผ่านมาถนนที่เป็นเกาะสี จะเกิดอุบัติเหตุรถวิ่งข้ามเลนสวนกัน ชนประสานงารุนแรงบ่อยครั้ง

และมีผู้เสียชีวิต ทางหลวงจะดำเนินการนำแท่ง Rubber Fender Barrier มาวางเฉพาะพื้นที่เกาะกลางถนนที่เป็นเกาะสี เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นบนถนนทางหลวง

    นอกจากนี้ ถนนที่จะออกแบบใหม่ในปีงบประมาณ 2563 ขนาด 4 ช่องจราจร และ 6 ช่องจราจร จะมีการออกแบบระบบ Rubber Fender Barrier เพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเช่นกัน

เพราะจากผลการวิจัยพบว่า การใช้แท่ง Concrete Barriers โดยมีแผ่นยางกันกระแทกคลุมแท่งคอนกรีต จะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุลงได้ไม่น้อยกว่า 30% อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้แบริเออร์

แทนการปรับปรุงเป็นเกาะยก เพราะมีราคาถูกกว่า ทำได้เร็ว ปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และไม่เกิดการวิ่งข้ามเลนมาชน รูปแบบเกาะกลางที่ทางหลวงจะเลือกใช้กับถนนของทางหลวง

จะใช้เป็นเกาะกลางแบบแบริเออร์เป็นหลัก ซึ่งนิยมใช้กับทางหลวงที่มีความกว้างเขตทางแคบ และเป็นรูปแบบฉนวนกั้นที่ดีที่สุดด้านความปลอดภัย โดยออกแบบให้มีระยะปลอดภัยด้านข้าง (Leteral Clearance)

ระหว่างช่องจราจรกับเกาะกลาง

    นายสราวุธ ทรงศิวิไล กล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าการใช้เกาะกลางแบบแบริเออร์ เป็นรูปแบบที่มีข้อได้เปรียบด้านความปลอดภัย รองรับความเร็วได้สูงกว่า ค่าก่อสร้างไม่สูง มีความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างมากกว่า

จัดการจราจรได้ดี ใช้เวลาก่อสร้างน้อย เมื่อเทียบกับเกาะยกปลูกหญ้า อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงน้อย ทำให้ช่วยประหยัดเงินค่าก่อสร้างเกาะกลาง และลดค่าบำรุงรักษาเกาะกลางในการตัดหญ้าและรดน้ำต้นไม้

ขณะเดียวกันยังเป็นการใช้พื้นที่ในการเวนคืนอย่างเต็มที่ และที่สำคัญจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน และช่วยให้ชาวสวนยางพาราขายยางพาราได้มากขึ้นด้วย

——————-

ข้อมูลข่าวจาก Facebook กรมทางหลวง

3 พ.ย. 62

 

'